สาระความรู้
 
 
 
 
4 วิกฤติเด็กปฐมวัย
เจาะลึกให้เข้าใจ - ป้องกัน - แก้ไขให้เท่าทัน
 
 
 
       ขณะที่ ประเทศไทยกำลังได้ชื่อว่ามีความพยายามอย่างยิ่งยวด ที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตและการศึกษาเด็กเยาวชนให้ได้มาตรฐานเทียบเท่าสากล ทั้งนโยบายการศึกษานานาชาติ สนับสนุนเรียนรู้ภาษาต่างประเทศการขยายเครือข่ายอินเตอร์เน็ตการปฏิรูปหลักสูตร และการใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอนมากขึ้น ฯลฯแต่เป็นที่น่าเสียดายและน่าตกใจว่า ผลของความพยายามกลับปรากฎเป็นตัวเลขเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า ต่ำกว่ามาตรฐานถึง30% จากตัวเลขของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2559 พบว่า เด็กปฐมวัยมีปัญหาพัฒนาการล่าช้ามากขึ้น ทั้งด้านการสื่อสาร การเรียนรู้ การติดเกม รวมไปถึงปัญหาในการควบคุมตัวเองและอื่นๆ อีกมากมาย

 
เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?
เหตุใดการพัฒนาการศึกษาจึงไม่ช่วยทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างเหมาะสม ?
...........................
ตลอด 2- 3 ปี ที่ผ่านมา มีการศึกษาวิจัยปัญหาพัฒนาการเด็ก จากหลายหน่วยงาน รวมถึงสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ฯ และสำนักบริหารและพัฒนาองค์ความรู้  ที่จัดทำ“โครงการพัฒนาและขยายแนวคิดตามหลักการจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง” ซึ่งศึกษารวบรวมข้อมูลความรู้ งานวิจัยทั้งในและต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหา พบว่า
ต้นเหตุปัญหาพัฒนาการเด็กในสังคมไทย น่าจะเกิดจาก “การมุ่งเน้นส่งเสริมความ “ฉลาด” ด้วยความไม่เข้าใจธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย และไม่รู้หลักในการพัฒนาสมองที่ถูกต้อง”
ไม่ว่าจะเป็น การเร่งเรียนเขียนอ่านเกินวัย, การปลูกฝังวินัยเด็กผิดวิธี, การยัดเยียดเรียนหลายภาษาตั้งแต่ลูกยังพูดไม่ได้, การให้เด็กใช้เทคโนโลยีมากเกินขอบเขตรวมถึงการพาเด็กไปกวดวิชา ที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อเด็กมากขึ้นทุกขณะ
 
4 วิกฤตปัญหาเด็กปฐมวัยต้องแก้ไขเร่งด่วน
ปัญหาที่เกิดกับเด็กปฐมวัยนั้นมีหลายด้าน แต่ที่ถือว่าเป็นสถานการณ์วิกฤตที่กำลังทวีความรุนแรงและต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน
 
ได้แก่ 4 ประเด็นต่อไปนี้ คือ
 
 
วิกฤตที่ 1 : เร่งรัดพัฒนาสมองลูก ด้วยการติวสอบเข้าอนุบาล
สิ่งสำคัญที่สุดของการพัฒนาสมองเด็กในวัยแรกเกิด  - 3 ปี คือการอยู่ใกล้ชิดพ่อแม่ การเลี้ยงดูเหมาะกับวัยและเล่นอิสระ แต่สถานการณ์จริงพบว่าผู้ปกครองจำนวนมาก วางแผนด้านการศึกษาให้แก่ลูกตั้งแต่ยังแบเบาะ จริงจังกับการสรรหาโรงเรียนที่เชื่อว่ามีคุณภาพการสูง มุ่งหวังให้ลูกเข้าเรียนในสถาบันที่ดีที่สุด

“การติวเพื่อสอบเข้าอนุบาล”

 เป็นกิจกรรมที่ตอบสนองความต้องการของผู้ปกครองโดยไม่รู้ว่าการเร่งรัดพัฒนาสมองลูกให้ติวสอบตั้งแต่ยังเล็ก จะเป็นผลเสียต่ออนาคตของลูกมากกว่า
เด็กจำนวนหนึ่งจึงถูกบังคับให้ท่องจำตำรา จำกัดกรอบในการคิดมุ่งเน้นให้เด็กจริงจังกับการสอบตั้งแต่เด็ก ถูกเร่งให้อ่านออกเขียนได้ บวกลบเลข ทำสิ่งต่างๆเกินวัย ด้วยคาดหวังให้เด็กเป็นคนเก่ง  ทั้งที่จริงการเป็นคนเก่งอย่างเดียวไม่สามารถทำให้ประสบความสำเร็จและมีความสุขได้ แต่กลับสร้างภาวะเครียดในสมองเด็ก ปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ ปลูกฝังนิสัยชอบการแข่งขัน เอาชนะไม่รู้ตัว มีเด็กไม่น้อยที่ผิดหวังกับการสอบ
จนหมดความเชื่อมั่นในตัวเองตั้งแต่ยังเด็ก

 
 

วิกฤตที่ 2 : ยัดเยียดลูกเรียนหลายภาษา ตั้งแต่ยังพูดไม่ได้
ถึงแม้ศักยภาพของสมองเด็ก จะมีคุณสมบัติอันน่าทึ่งที่สามารถเรียนรู้เข้าใจภาษาได้หลายภาษาพร้อมกันก็ตาม แต่ในขวบปีแรกโลกการสื่อสารที่เหมาะกับเด็กคือการสื่อสารที่สะท้อนความรัก ความเข้าใจ ระหว่างแม่ลูก และคนในครอบครัว
การสอนภาษาสำหรับเด็ก ควรเป็นไปโดยธรรมชาติไม่ใช่เน้นจดจำคำศัพท์แบบเอาเป็นเอาตาย เพื่อหวังให้ลูกมีความสามารถรอบด้านเมื่อภาษาแรกยังสื่อสารไม่เป็น แต่ถูกยัดเยียดภาษาที่สองและสามอย่างเร่งรัดมากไป ส่งผลให้เด็กสับสน มีพัฒนาการช้าลง หลายคนพูดช้ากว่าเกณฑ์ หลายคนสื่อสารแบบท่องจำ โดยไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริง และไม่ได้สอดคล้องกับชีวิตประจำวันแต่อย่างใด
 

วิกฤตที่ 3: เด็กเอาแต่ใจเป็นจักรพรรดิน้อย จากการเลี้ยงดูแบบOver Protect
การเลี้ยงดูเด็กแบบเอาใจมากเกินไป ได้สร้างผลกระทบที่เลวร้ายต่อสังคม เพราะได้ผลิตบุคลากรที่สนใจแต่ตัวเอง ไม่สนใจผู้อื่น ขาดภูมิคุ้มกันในด้านความผิดหวัง เพราะชินกับการได้ทุกอย่างที่ต้องการ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองได้ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่
การปกป้องดูแลลูกมากไป ก่อให้เกิดการปลูกฝังวินัยสำหรับเด็กในทางที่ผิด เด็กจะอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม โดยไม่รู้จักช่วยตัวเอง ไม่แบ่งปัน เอื้อเฟื้อ หรือเห็นอกเห็นใจผู้อื่น สร้างบุคลิกนิสัยที่เรียกร้องสูง ยืดหยุ่นไม่เป็น และยับยั้งจิตใจไม่เป็นด้วย การเลี้ยงดูเช่นนี้คือวิกฤตที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนเช่นกัน
 

 
วิกฤตที่ 4: ลูกรักติดเทคโนโลยี เมื่อพ่อแม่ใช้แท็ปเล็ตเลี้ยงลูก   
ปัญหาเด็กติดเทคโนโลยีนับเป็นปัญหาใหญ่มาก มีเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการใช้สมาร์ทโฟนแทปเล็ตเพิ่มมากขึ้น ทั้งปัญหาสุขภาพ และพัฒนาการถดถอย
ในหลักการสากลนั้นแนะนำไม่ให้เด็กต่ำกว่า 2 ขวบ ดูโทรทัศน์ แทปเล็ต หรือมือถือ เพราะเกิดผลเสียต่อประสาทตา ส่งผลให้สายตาสั้น จอประสาทตาเสื่อมเร็วเกินอายุ  สมองเด็กถูกปลุกเร้ามากเกินไปปวดหัวง่าย หงุดหงิดง่าย และนอนหลับยากด้วย
สำหรับผลกระทบด้านสังคม ก่อบุคลิกนิสัยเก็บตัว อยู่แต่ในโลกของตัวเอง ไม่ต้องการออกกำลังกาย จนกลายเป็นเด็กอ้วน ไม่มั่นใจในตัวเอง ไม่ต้องการสื่อสารผู้อื่น ส่งผลให้พัฒนาการด้านสื่อสารลดลง เด็กพูดช้าเข้าสังคมไม่เป็นก่อผลเสียในระยะยาวจนถึงวัยเติบโต
 
ป้องกัน แก้ไขอย่างไร ให้พ้น 4 วิกฤตเด็กอนุบาล
 
                 เพื่อช่วยให้เด็กพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู หรือผู้ดูแลเด็กในทุกส่วน จึงควรตระหนักเสมอถึงแนวทางการพัฒนาเด็กที่เหมาะสมกับวัย ไม่ใช่มุ่งเน้นให้เด็กเป็นคนเก่งอย่างเดียวเท่านั้น แต่ควรมีเป้าหมาย ให้เด็กเป็นได้ทั้ง คนดี คนเก่ง และมีความสุข จึงจะเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมได้แนวทางการพัฒนาเด็กที่เหมาะสมที่สุด คือการพัฒนาแบบองค์รวม เน้นการพัฒนาเด็กทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ และสังคม สติปัญญาไปพร้อมกัน เพราะทุกอย่างโยงใยสัมพันธ์ต่อกันทั้งหมด
สำหรับพ่อแม่และผู้ปกครอง 
  • ด้านการเลี้ยงดู ควรเลี้ยงดูลูกให้ใกล้ชิดทุกช่วง โดยเฉพาะช่วงก่อนวัยอนุบาลวางรากฐานความรักอันมั่นคงแก่ลูก ให้อาหารถูกหลักโภชนาการให้โอกาสลูกได้ตัดสินใจ ทำสิ่งต่างๆ อย่างเหมาะสมตามวัย เช่น เลือกเสื้อผ้าใส่เอง เลือกนิทานที่อยากอ่าน เป็นต้นแต่ต้องมีกฎ กติกาที่เหมาะสม ไม่เลี้ยงดูแบบตามใจ หรือปกป้องมากไป
  • ด้านการเรียนการสอน ควรเลือกโรงเรียนอนุบาลที่เปิดโอกาสเด็กได้เล่นสนุกมากที่สุด ไม่ใช่มุ่งเน้นวิชาการมากเกินไป ทางที่ดีควรเลือกโรงเรียนใกล้บ้าน มีวิถีสังคมสอดคล้องกับชุมชน ไม่เน้นการแข่งขันสอบเข้า และไม่คาดหวังเกินไป หรือแสดงความผิดหวัง หากลูกสอบเข้าไม่ได้
  • ด้านภาษาและการสื่อสาร พ่อแม่สอนภาษาหลักที่สื่อสารให้เข้าใจในครอบครัว แล้วจึงค่อยๆ เพิ่มเติมภาษาที่สองไปอย่างสอดคล้องกับธรรมชาติ ผ่านการเล่นสนุก การพูดคุย การเล่านิทาน ฟังเพลง มากกว่าจะพาลูกไปเข้าเรียนท่องจำแบบผู้ใหญ่และไม่คาดหวังว่าลูกจะเก่งในทุกภาษาที่ต้องการ
  • ด้านการใช้เทคโนโลยี พ่อแม่ควรให้ลูกใช้อุปกรณ์เทคโนโลยี หลัง 2 ขวบไปแล้วและเน้นการใช้งานที่เหมาะกับวัย ไม่ว่าจะเป็นเกมส์สำหรับเด็ก การ์ตูนที่เนื้อหาเหมาะกับเด็ก แอพพลิเคชั่นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ พัฒนาการ จึงควรอยู่กับลูกเสมอ ไม่ปล่อยลูกเล่นอิสระเพียงลำพัง และกำหนดเวลาใช้ที่เหมาะสม พร้อมเฉลี่ยเวลาสำหรับกิจกรรมด้านอื่นๆ ด้วย
สำหรับครู โรงเรียน และสถาบันการศึกษา
  • ด้านการดูแลเด็ก เน้นพัฒนาทั้งสุขภาพอนามัย การออกกำลังกาย การใช้กล้ามเนื้อทั้งมัดเล็กและมัดใหญ่การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย ปลอดโปร่ง การเล่นสนุกทั้งอิสระและเล่นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการ
  • ด้านการเรียนการสอน จัดการเรียนการสอนในทางสร้างสรรค์ มีสัดส่วนการเรียนรู้ในทุกด้าน ทั้งดนตรี ศิลปะ การเล่นกลางแจ้ง ไม่เน้นท่องจำ หรือมุ่งวิชาการมากเกินไป สอนเนื้อหาตรงกับวัย ไม่นำเนื้อหาเกินวัยมายัดเยียดให้เด็ก ไม่จัดการสอบหรือวัดผลที่เคร่งเครียดเกินไป
  • ด้านภาษาและการสื่อสาร ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาผ่านกิจกรรมสนุก เป็นธรรมชาติ การร้องเต้น เล่นใช้สื่อการสอนที่เหมาะกับวัย ใช้เนื้อหาสอดคล้องกับวิถีชีวิตและสิ่งที่เด็กๆ สนใจมีสัดส่วนภาษาหลักและรองอย่างเหมาะสม
  • ด้านการใช้เทคโนโลยี สามารถใช้เทคโนโลยีประกอบการสอนได้ในลักษณะทางเลือก ไม่ใช่บังคับใช้ โดยใช้เป็นสื่อการสอนผสมผสานกับสื่ออื่นๆ  จัดมุมให้เด็กใช้ร่วมกันได้ นำไปสู่การเรียนรู้และฝึกแก้ปัญหาได้ ฝึกกติกาการใช้งาน รู้จักรักษาของใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
            วันนี้ สังคมไทยกำลังเผชิญหน้ากับ 4 วิกฤตนี้อย่างรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ ซึ่งสถานการณ์นี้ อาจเป็นตัวบ่งชี้ได้ว่า ความเข้าใจในการเลี้ยงดูเด็กในสังคมไทยยังไม่ถูกต้องเพียงพอ และถึงเวลาที่จะต้องร่วมมือร่วมใจกันทุกฝ่าย เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้วิกฤตการณ์เหล่านี้แพร่ขยายมากขึ้น อันจะส่งผลเสียต่อเด็กทั้งในปัจจุบันและอนาคต และช่วยกันป้องกัน สร้างภูมิคุ้มกันแก่เด็กเพื่อมุ่งหวังให้พวกเขามีโลกที่เต็มไปด้วยความสุขและความสามารถไปพร้อมๆ กันได้อย่างยั่งยืน.