อัตชีวประวัติ ของ "Maria Montessori"
เจ้าของแนวคิดเชิงปฏิวัติการสอนเด็กเล็กแบบ "มอนเตสเซอรี่" ที่เป็นที่นิยมทั่วโลกในเวลานี้
แปลความข้อมูลและเครดิตภาพจาก นิตยสาร Flow ฉบับภาษาเยอรมัน เดือน มีนาคม 2017
Maria Montessori
- Maria Montessori เป็นชาวอิตาเลี่ยนที่ถือกำเนิดในปี 1870 โดยเป็นลูกสาวคนเดียวของครอบครัวที่มีพื้นฐานการศึกษา เธอเป็นเด็กหญิงที่ฉลาดมาก มีความมั่นใจในตัวเอง และที่สำคัญรู้จักตัวเองตั้งแต่ยังเด็กว่า มีความปรารถนาที่อยากจะเรียนวิทยาศาสตร์ ซึ่งในขณะที่เวลานั้น เป็นวิชาที่เด็กผู้หญิงทั่วไปนั้นไม่สนใจ หรือไม่มีสิทธิในการเรียนมากนัก
-เมื่อเธออายุได้ 10 ขวบ เธอป่วยหนัก จนพ่อและแม่ของเธอรู้สึกกังวลว่า เธอจะเสียชีวิตในเวลานั้น แต่มาเรียกลับพูดกับพ่อและแม่ของเธอว่า "อย่ากังวลเลยแม่ ฉันยังไม่สามารถที่จะตายได้ ฉันยังมีอะไรที่ต้องทำอีกเยอะ" ครั้งหนึ่ง ด้วยความปรารถนาที่จะเป็นวิศวกร มาเรียได้เดินทางเพื่อไปเข้าโรงเรียนมัธยมที่เปิดสอนในสายนี้ ซึ่งโดยปกติแล้ว โรงเรียนที่เปิดทำการสอนในสายวิชาดังกล่าวในสมัยนั้น จะไม่มีผู้หญิงเรียนเลย ปรากฏว่าก็เป็นจริงตามนั้น คือ ที่นั่นมีเพียงเด็กผู้หญิงสองคนที่มาเรียน คือ มาเรียและเพื่อนหญิงอีกหนึ่งคนของเธอ โดยที่พวกเธอต้องกลั้นฉี่กันตลอดทั้งวันเลยทีเดียว เนื่องจากที่โรงเรียนแห่งนี้ไม่มีห้องน้ำผู้หญิง!
-อย่างไรก็ตาม หลังจากเรียนจบจากโรงเรียนมัธยมแห่งนี้ มาเรียบอกกับตัวเองว่า เธอต้องการจะเป็น "หมอ" ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่า ในเวลานั้น ยังไม่มีผู้หญิงคนใดที่ได้เป็นหมอ และพ่อของเธอก็สั่งห้ามความปรารถนานี้ของเธออย่างเด็ดขาด แต่มาเรียตัดสินใจที่จะทำความฝันของเธอให้เป็นจริงและกลายเป็นนักศึกษาแพทย์หญิงเพียงคนเดียวของมหาวิทยาลัยโรม ซึ่งก็เป็นอะไรที่อัศจรรย์ใจมากที่มหาวิทยาลัยโรมแห่งนี้ก็อนุญาตให้เธอเข้าเรียนได้ แม้ว่าจะยังคงมีความไม่แน่ใจในตัวเธอนัก แต่มาเรียไม่ยอมให้อุปสรรคใดๆ มาทำให้เธอสั่นคลอนไปจากเป้าหมายของเธออย่างเด็ดขาด และเธอก็ประสบความสำเร็จ เมื่อเธออายุได้ 26 ปี ได้กลายเป็นแพทย์หญิงในบรรดาแพทย์หญิงคนแรกๆ ของประเทศอิตาลี และเข้าทำงานในโรงเรียนสำหรับเด็กที่ไร้ความสามารถหรือปัญญาอ่อน ความรู้สึกของเธอในเวลานั้นคือ รู้สึกตกใจในสภาพความเป็นอยู่และการเรียนรู้ของเด็กๆ เหล่านี้เป็นอย่างมาก เพราะสถานที่ที่พวกเขาอยู่นั้น เหมือนราวกับคุกที่ว่างเปล่า เด็กๆ ก็เอาแต่เล่นกับของเล่นที่เป็นรูปร่างต่างๆ ทั้งวัน โดยไม่ยอมทานอาหาร ซึ่งภาพที่เธอมองเห็นนี้ ได้กลายเป็นแรงดลใจที่เธอคิดได้ว่า เธอจะช่วยเหลือเด็กๆ เหล่านี้ และเธอเชื่อว่า ไม่มีเด็กที่ไร้ความสามารถ แต่พวกเขากำลังเล่นและเรียนรู้จากการเล่นต่างหาก ด้วยความรู้สึกตระหนักในจิตใจมากขึ้นในเรื่องนี้ มาเรียตัดสินใจอีกครั้งหนึ่งที่จะเรียนเกี่ยวกับการเรียนการสอนและจิตวิทยา (Pädagogik & Physiologie) พร้อมกับการทำงานเพื่อเด็กที่ไร้ความสามารถเหล่านั้น
-เธอกล่าวว่า "สิ่งที่เธอสนใจนั้น ไม่ใช่ประเด็นที่ว่า เด็กไร้ความสามารถ หรือปัญญาอ่อนเหล่านั้นดีอย่างไร แต่อยู่ที่ว่า เด็กๆ เหล่านั้นแย่แค่ไหน แต่พวกเขาจะได้รับการพัฒนาได้อย่างไร เมื่อพวกเขาได้รับการสอนที่ถูกต้อง" สำหรับชีวิตส่วนตัวของเธอ มาเรียพบรักกับเพื่อนหมอด้วยกัน ชื่อ Giuseppo Montesano โดยปราศจากการแต่งงานงาน และแม้ว่ามาเรียจะตั้งครรภ์ลูกชายก็ตาม ภายหลังการคลอดลูกเธออุทิศลูกชายคนเดียวของเธอ "มาริโอ้" ให้กับครอบครัวที่ต้องการเลี้ยงดูเด็ก เพื่อเธอจะอุทิศเวลาทั้งหมดให้กับการช่วยเหลือเด็กๆ อื่นๆ และสังคม อย่างไรก็ตาม เธอยังคงไปเยี่ยมเยียนมาริโอ้อย่างสม่ำเสมอและบ่อยครั้ง โดยที่ไม่ต้องการบอกเขาว่าเธอเป็นแม่แท้ๆ ของเขา
-มาเรียประสบความสำเร็จอย่างมากในหน้าที่การงาน แต่ก็นั่นได้นำมาซึ่งความแตกแยกในครอบครัว Giuseppo ขอแยกทางจากเธอ และไปแต่งงานกับผู้หญิงคนใหม่ที่ดำเนินชีวิตแบบดั้งเดิมแบบที่แตกต่างจากมาเรียคือ เป็นแม่บ้าน เหมือนๆ กับที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ในสมัยนั้นได้ทำกัน สำหรับมาเรีย เธอก็เลือกที่จะดำเนินชีวิตคนเดียว โดยมี Giuseppo เป็นเพียงความรักเดียวของเธอ ช่วงที่เหลือของชีวิต มาเรียได้ทุ่มเทเวลาและความสามารถทั้งหมดให้กับการเสริมสร้างพัฒนาเด็ก เธอได้เปิดโรงเรียนที่มีชื่อว่า Casa dei Bambini ในเมือง San Lorenzo และใช้เทคนิคการเรียนการสอนของเธอที่นั่น พื้นฐานความคิดของเธอได้ทำให้เกิดแนวทางใหม่ๆ ที่จากเดิมผู้ใหญ่มักจะใช้วิธีทำโทษเพื่อบังคับให้เด็กเชื่อฟัง แต่เธอกลับมีความเชื่อว่า เด็กๆ มีความปรารถนาที่จะเรียนรู้อยู่แล้ว และต้องการความเป็นอิสระมากขึ้น
-ดังนั้น ในการเลี้ยงดูพวกเขา จึงไม่ต้องการครูที่เข้มงวด ไปมากกว่า ผู้ดูแลที่เป็นผู้ช่วยเหลือพวกเขาในการเรียนรู้และให้ช่วยเหลือตัวเองได้ดี ด้วยแนวคิดเช่นนี้ เธอจึงประดิษฐ์ห้องๆ หนึ่ง ที่มีโต๊ะ เก้าอี้ และห้องครัว ในระดับความสูงของเด็กๆ และออกแบบอุปกรณ์เพื่อการเรียนรู้ที่เต็มไปด้วยหลักการและเหตุผลในการพัฒนาเด็กๆ ขึ้น ยกตัวอย่าง เช่น ตัวอักษรที่มาจากกระดาษทราย เพื่อให้เด็กเห็นรูปร่างและรู้สึกจากการสัมผัส จนทำให้เกิดการเรียนรู้ นอกจากนี้ ในหัวข้อของ "ความเป็นอิสระ" มาเรียให้เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะเลือกอุปกรณ์ต่างๆ ในห้องเพื่อที่จะเล่นเอง เด็กๆ แต่ละคนได้รับการพัฒนา และเรียนรู้อย่างมีเหตุผล ที่ประชุมผู้ปกครอง คือ การที่ผู้ปกครองนั่งลงในเก้าอี้ขนาดเล็กๆ ของเด็กๆ และนี่คือแนวทางของโรงเรียนทางเลือกที่มีชื่อว่า "Montessori" แนวคิดเกี่ยวกับแนวทางและอุปกรณ์การเรียนการสอนของมาเรีย ได้สร้างความประหลาดใจให้กับผู้มาเยี่ยมเยียนที่มาจากทั่วโลก มาเรียได้เปิดโรงเรียนและอนุบาลเพิ่มขึ้น รวมถึงจัดตั้งชั้นอบรมครู และเดินทางไปอบรมจัดสะมมนาด้วยตัวเองทั้งในยุโรปและอเมริกา
-โดยในภายหลังลูกชายคนเดียวของเธอ "มาริโอ้" ได้เดินทางมาสมทบเพื่อสนะบสนุนแนวทางดังกล่าวร่วมกับเธอ ด้วยอายุเพียง 14 ปี เขาได้สารภาพกับมาเรียว่า เขารู้ว่ามาเรียเป็นแม่ของเขา และเขามีความภูมิใจในตัวของมาเรียมาก มาเรียรู้สึกดีใจมาก และพาเขากลับไปบ้านด้วย และมาริโอ้ ก็ตัดสินใจเดินทางไปทั่วโลกไปกับแม่ของเขาเพื่อจัดสัมมนาและอบรมเกี่ยวกับแนวทางมอนเตอเซอรี่ อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สองขึ้น มุโสลินี ผู้นำเผด็จการของอิตาลี ณ เวลานั้น ก็ไม่พอใจแนวทางการสอนที่เน้นความเป็นอิสระของโรงเรียนมอนเตอเซอรี่ จึงได้สั่งปิดโรงเรียนแห่งนี้ มาเรียยืนหยัดในแนวทางของเธอ แม้ว่าจะต้องลี้ภัยไปอยู่อินเดีย และในประเทศอินเดียนี้ เธอก็ยังไม่หยุดที่จะนำแนวทางการสอนของเธอมาก่อตั้งที่นี่ด้วย
-ภายหลังสงคราม มาเรียย้ายมาอยู่ในประเทศเนเธอแลนด์ เนื่องจากมาริโอ้ได้แต่งงานกับหญิงสาวชาวเนเธอแลนด์ และมาเรียก็เสียชีวิตที่นี่ ด้วยอายุ 81 ปี ในระหว่างที่มาริโอ้กำลังทำแผนการณ์เดินทางไปกาน่า และประเทศในอัฟริกา เพื่อเผยแพร่แนวคิดของเธอ ดังที่เธอเคยกล่าวไว้ว่า "อะไรก็ตามที่เด็กได้รับประโยชน์จากสิ่งที่สำคัญ ผู้ใหญ่ก็ได้รับด้วย"
ในปัจจุบันมีโรงเรียนและอนุบาลภายใต้แนวคิดของมอนเตอเซอรี่ประมาณ 8,000 แห่ง จาก 6 ทวีปทั่วโลก